20 ปี เราไม่ลืม” พระมหากรุณาธิคุณ “สมเด็จย่า” พลิกฟื้นผืนป่า สู่การท่องเที่ยวบนดอยตุง
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“ฉันจะปลูกป่าที่ดอยตุง”
พระราชดำรัสของ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า” ยังก้องอยู่ในหัวใจของปวงชนชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะชาวเขาและชาวบ้านบนดอยตุง ที่ต่างน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า ที่ถึงแม้ว่าพระองค์จะเสด็จสวรรคตไปตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นเวลาถึง 20 ปีแล้ว แต่พระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงสร้างขึ้นล้วนแล้วแต่ยังประโยชน์ต่อพสกนิกรทุกคนมาจนถึงทุกวันนี้
“ดอยตุง” อ.แม่ ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่นี่เมื่อครั้งอดีตเป็นเพียงภูเขาหัวโล้น และมีสภาพพื้นที่เป็นผืนป่าอันเสื่อมโทรม ชาวเขาและชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนดอยตุง มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจน อยู่อย่างแร้นแค้นและขาดโอกาสในการดํารงชีวิต สมเด็จย่ามีพระราชดําริที่จะนําผืนป่ากลับคืนมา และต้องการพัฒนาให้ทุกคนบนดอยตุงมีคุณภาพชีวิตด้านสังคมและเศรษฐกิจที่ดี ขึ้น โดยปลูกฝังให้ทุกคนอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีจิตสํานึกและพึ่งพาอาศัยกัน จึงเป็นที่มาของ “โครงการพัฒนาดอยตุง” (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดําริ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2531
ตั้งแต่วันนั้นจวบจนวันนี้ “โครงการพัฒนาดอยตุง” ยังคงสานต่อปณิธานของสมเด็จย่าที่ว่า “ปลูกป่า สร้างคน” มาเป็นอย่างดี ป่าบนดอยตุงฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์สู่ธรรมชาติอันงดงาม ชาวเขาและชาวบ้านทุกคนมีงานทำ มีรายได้ มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พื้นที่บนดอยตุงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทำให้ดอยตุงกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและดึงดูดให้นัก ท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวดอยตุงกันเป็นจำนวนมาก
บนดอยตุงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่งชวนให้ไปสัมผัสกัน ไม่ว่าจะเป็น “หอแห่งแรงบันดาลใจ” ที่ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทำการปรับปรุงหอพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเปลี่ยนเนื้อหานิทรรศการเป็น "หอแห่งแรงบันดาลใจ" โดย ภายในหอแห่งแรงบันดาลใจนี้ จัดแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวของราชสกุลมหิดล ประกอบไปด้วย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีเนื้อหาที่ซาบซึ้ง ประทับใจ ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวพระราชจริยวัตร ปรัชญา และหลักการทรงงานที่เรียบง่าย พระวิริยะอุตสาหะที่มุ่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย และสร้างประโยชน์สุขให้เกิดแด่แผ่นดินไทย เมื่อได้เข้ามาดูแล้วจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายให้ผู้ที่ได้มาชมเกิดสำนึกคิดดี ทำดี
สถานที่ต่อมา คือ “พระตำหนักดอยตุง” สมเด็จย่า ทรงเรียกพระตำหนักนี้ว่า "บ้านที่ดอยตุง" ซึ่งสมเด็จย่าได้พระราชทานทรัพย์และแนวพระราชดำริในการก่อสร้างร่วมด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงให้สร้างแบบเรียบง่าย เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับและที่ทรงงานบนดอยตุง สมเด็จย่า ได้เสด็จฯ มาประทับที่พระตำหนักดอยตุงเป็นครั้งแรกในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531
พระตำหนักดอยตุงแห่งนี้ มีความสวยงามเป็นอย่างมาก แวดล้อมไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับสีสันสวยสดงดงาม เปิดให้เข้าชมส่วนต่างๆ ของบ้าน แต่ห้ามถ่ายรูปด้านใน ภายในบ้านหลังนี้แม้จะไม่ใหญ่โตโอ่อ่านัก แต่กลับแฝงไว้ด้วยความงดงามที่หาชมได้ยาก พระตำหนักเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น มีสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างบ้านปีกไม้ศิลปะล้านนากับชาเลต์แบบสวิส โดดเด่นด้วยการประดับกาแล และไม้แกะสลักเป็นเชิงชายลายเมฆไหลที่ดูแล้วช่างอ่อนช้อยงดงาม
ภายในพระตำหนักมีห้องต่างๆ มากมาย มีห้องท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระราชนัดดา ห้องที่ประทับของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ห้องที่ประทับของสมเด็จย่า และมีห้องท้องพระโรงหรือห้องโถงกลาง ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จย่าประดิษฐานอยู่ และที่เพดานห้องท้องพระโรง มีความโดดเด่นสะดุดตาคือ การแกะสลักกลุ่มดาวต่างๆ ในจักรราศีประจำปีเกิด และกลุ่มดาวต่างๆ ในระบบสุริยะจักรวาล ซึ่งภายในบ้านยังมีสิ่งของเครื่องใช้ที่สมเด็จย่าเคยประทับอยู่ จัดแสดงเก็บรักษาไว้เหมือนเดิมเป็นอย่างดีให้ได้ชมกัน
จากนั้นมาเที่ยว "สวนแม่ฟ้าหลวง” เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาวที่งดงามเป็นอย่างมาก เมื่อปีพ.ศ. 2536 ได้รับรางวัล พาตา โกลด์ อวอร์ด (PATA Gold Award) ประเภทรางวัลการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเอเชีย - แปซิฟิก ซึ่งภายในสวนแม่ฟ้าหลวงมีพื้นที่ 30 ไร่ ด้านในสวนถูกตัดสรรและตกแต่งอย่างสวยงาม ภายในสวนรื่นรมย์ เต็มไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับ และไม้เมืองหนาวนานาพันธุ์หลากหลายสีสัน ที่พากันชูช่อออกดอกเบ่งบานความสวยงามให้ได้ชมกันแบบเพลิดเพลิน และภายในสวนแห่งนี้มีจุดไฮไลต์ที่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ใจกลางสวน นั่นคือ ประติมากรรมที่มีชื่อว่า "ความต่อเนื่อง" เป็นผลงานของศิลปินหญิง มีเซียม ยิบอินซอย ประติมากรรมเป็นรูปหล่อเด็กๆ ที่ต่อตัวกันขึ้นเป็นทรงพีระมิดมนุษย์ สื่อความหมายว่า การทำงานใดๆ จะสำเร็จได้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
แล้วยังมี “ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ” ซึ่ง ศูนย์นี้เป็น ส่วนหนึ่งของงานพัฒนาของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ในการที่จะสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่โครงการ โดยศูนย์ได้จัดการอบรมพัฒนางานฝีมือชนเผ่าต่างๆ ให้มีการออกแบบพัฒนาคุณภาพ และสร้างให้ผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดภายใต้แบรนด์ดอยตุง ภายในศูนย์มีโรงงานหลายแห่งให้ได้เที่ยวชม มีงานทอผ้า เย็บผ้า, งานกระดาษสา, งานเซรามิก, งานยิงพรม และโรงกาแฟ และมีสินค้าต่างๆ มากมายให้ได้เลือกซื้อหา อาทิ ผ้าทอ สินค้าตกแต่งบ้าน เสื้อผ้าสำเร็จรูป พรม ซึ่งสินค้าเหล่านี้ผลิตโดยฝีมือชาวบ้าน
อีกหนึ่งสถานที่ชวนเที่ยวบนดอยตุง คือ “พระธาตุดอยตุง” เป็น เจดีย์สีทองขนาดเล็ก 2 องค์ สูงประมาณ 5 ม. บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มจระนำสี่ทิศ องค์ระฆังและปลียอดมีขนาดเล็ก บรรจุพระบรมพระบรมสารีริกธาตุให้ได้กราบขอพร และเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำคนเกิดปีกุน
นี่คือเรื่องราวของ “ดอยตุง” จากภูเขาหัวโล้นอันเสื่อมโทรม แต่เมื่อ “สมเด็จย่า” แม่ฟ้าหลวงแห่งปวงชนชาวไทยมาโปรด ทำให้ดอยตุงฟื้นคืนชีวา ชาวเขาและชาวบ้านมีความวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้ทุกคนมีงาน มีรายได้ และยังส่งผลให้ดอยตุง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย
อร่อยลิ้น ลองชิม “อาหารชนเผ่า” บนดอยตุง
โดย MGR Online
คนในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ก็มักจะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันไปด้วย รวมไปถึงอาหารการกินที่มักจะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่ตัวเองมี นำมาปรับประยุกต์ให้เป็นอาหารอร่อยประจำถิ่น อย่างในพื้นที่ของ “ดอยตุง” อันเป็นแหล่งที่อยู่ของชนเผ่าหลายๆ เผ่า อาทิ อาข่า ลาหู่ ไทใหญ่ ไทลื้อ เป็นต้น ซึ่งแต่ละเผ่านั้นก็มีของอร่อยที่ชวนชิมแตกต่างกันไป
นอกจากกับข้าวและอาหารต่างๆ แล้ว ของกินเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละที่ก็น่าชิมไม่แพ้กัน เริ่มจาก “ข้าวซอยน้อย” หรือ “พิซซ่าลาหู่” ของอร่อยของชาวลาหู่ เมนูนี้ต้องใช้ข้าวจ้าวมาแช่น้ำ แล้วโม่แป้งออกมา นำมาเทใส่พิมพ์ภาชนะทรงกลมคล้ายพิซซ่า เทบางๆ แล้วนำไปนึ่งในน้ำเดือดให้สุกดี นำขึ้นจากเตาแล้วเทแป้งลงไปอีกชั้น ใส่กะหล่ำปลี ผักชี ต้นหอม แล้วปรุงรสด้วยพริกบดละเอียด ถั่วลิสงคั่วบด น้ำตาล เกลือ แล้วนำไปนึ่งให้สุกอีกครั้ง พอยกขึ้นจากเตาแล้วก็เอาออกจากพิมพ์ มากินกันร้อนๆ แป้งนุ่มๆ หอมอร่อยได้รสชาติ
ชาวลาหู่นิยมทำข้าวซอยน้อยกินกันในช่วงเทศกาลข้าวใหม่ เทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน และในช่วงวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันเข้าโบสถ์ของพี่น้องชาวลาหู่นั่นเอง
อีกเมนูอร่อยมีชื่อว่า “ข้าวปุ๊ก” ที่มีทั้ง “ข้าวปุ๊กขาว” และ “ข้าวปุ๊กดำ” โดยชาวไทใหญ่จะล้อมวงรอบกองไฟ ทำกินกันในช่วงฤดูหนาวเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย แถมยังเป็นของกินเล่นที่อร่อยถูกปากอีกด้วย
ข้าวปุ๊กขาว ใช้ (ข้าวนึ่ง) ข้าวเหนียวผสมกับงาขี้ม้อนตำจนละเอียดแล้วคลุกเคล้าจนเนีบยเป็นเนื้อเดียว กัน ก่อนจะดีเป็นแผ่นวงกลมไม่หนาไม่บางจนเกินไป นำไปปิ้งกับเตาถ่านจนร้อนและได้กลิ่นหอม จากนั้นราดน้ำตาลอ้อยลงไปให้ทั่ว ก่อนจะพับครึ่งประกบกัน แล้วกินร้อนๆ
ส่วนข้าวปุ๊กดำ จำใช้ข้าวเหนียวดำแทนข้าวเหนียวขาว โดยใช้พันธุ์ข้างแสงนาที่ชาวไทใหญ่ปลูกไว้เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สูญหายไป นำมาผสมกับงาขี้ม้อนแล้วปิ้งจนร้อน ราดน้ำตาลอ้อนลงไปเช่นเกียวกัน ทั้งข้าวปุ๊กขาวและดำ กินกันร้อนๆ เนื้อเนียนเหนียวนุ่มหอม ได้ความหวานนิดๆ จากน้ำตาลอ้อยที่ละลายอยู่บนแป้ง
อย่างสุดท้ายชวนชิม “ข้าวต้มข้าวเหนียว” หรือที่ชาวดอยนิยมเรียกกันว่า “ข้าวต้มเล็บมือนาง” จะ ใช้ข้าวเหนียวดำหรือข้าวเหนียวขาวผสมกับถั่วลิสงสด ห่อด้วยใบของต้นตองกง (ส่วนดอกของต้นตองกงนำมาทำไม้กวาด) ห่อเป็นทรงสามเหลี่ยมเรียวๆ มองแล้วคล้ายๆ นิ้มมือของผู้หญิง ก่อนจะนำไปต้มจนสุกดี ข้าวต้มเล็บมือนางแบบนี้ชาวดอยนิยมทำกินกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ กินแล้วหอมข้าวเหนียวใหม่ๆ ได้ความมันจากถั่วลิสง
หากใครอยากลองชิมเมนูที่ว่ามานี้ และอาหารอร่อยๆ ของชาวเผ่า ลองแวะมาชิมกันได้ที่งาน “เทศกาลสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่ 2” ซึ่งจัดขึ้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย จัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่วันนี้ - 31 ม.ค. 59 และจัดงานช่วงวันหยุดพิเศษระหว่าง 5 - 7 ธ.ค. 58 และ 26 ธ.ค 58 - 3 ม.ค. 59 ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พบกับถนนคนเดินที่สูงที่สุดในประเทศไทย อร่อยกับอาหารพื้นเมืองหลากหลาย ชอปงานหัตถกรรมพื้นบ้านของชนเผ่าต่างๆ บนดอยตุง
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต